16.12.53

หมวกพระราชทาน



ในประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอล "ทีมชาติอังกฤษ" คือทีมแรกของโลก ที่มีการมอบหมวกให้แก่นักเตะซึ่งถูกคัดเลือกเป็นผู้แทนของประเทศ เมื่อ ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2429) โดยวงการลูกหนังเมืองผู้ดีเรียกหมวกดังกล่าวว่า "หมวกแก๊ป" (INTERNATIONAL CAP) นับเป็นเวลานานกว่า 119 ปี ต่อมา กลุ่มชาติสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ อันประกอบด้วย เวลส์, สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนเหนือ จึงดำเนินรอยตามประเพณีการให้หมวกแก่นักฟุตบอลทีมชาติของตน นอกจากเพื่อเป็นเกียรติประวัติส่วนตัวแล้ว ยังบ่งบอกถึงสถิติการลงเล่นระหว่างชาติ ด้วยการนับจำนวนของหมวกที่ได้รับมานั้นด้วย

ภายหลังการกำเนิดหมวกทีมชาติอังกฤษ 29 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ คือ อังกฤษ จึงได้นำประเพณีการมอบหมวกแก่คณะฟุตบอลสยาม หรือ "ทีมชาติสยาม" ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ณ สนามสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

โดยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้คณะฟุตบอลสยามนำ "ตราพระมหามงกุฎ" ประดิษฐานอยู่เหนือลูกฟุตบอล เพื่อนำไปติดไว้บนหน้าหมวก ลักษณะของหมวกคล้ายกับหมวกลูกเสือสำรองของไทยในปัจจุบัน คือ มีปีกด้านหน้า ส่วนตัวหมวกจะสลับพื้นสีแดงขาว ขลิบเส้นด้วยดิ้นสีทอง และมีภู่บนยอดของหมวก พร้อมทั้งมีข้อความใต้ตราพระมหามงกุฎ แสดงวันที่ เดือน และพุทธศักราช ที่ได้ลงแข่งขันระหว่างชาติขณะนั้น

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพ ฯ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ได้ลงข่าวคำกล่าวของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) สภานายกฟุตบอลคนแรกของสยาม ดังนี้

"...หมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอล ที่ท่านจะได้รับไปในเวลาอีกสักครู่หนึ่งนี้ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ตราพระมหามงกุฎ ซึ่งควรรู้สึกว่าเปนเกียรติยศการรักชาติ ย่อมจะแสดงได้หลายสถาน แต่การที่ท่านตั้งใจเข้าเล่นแข่งขัน ให้ถึงซึ่งไชยชนะให้แก่ชาติในคราวนี้ ก็เปนส่วนหนึ่งแห่งการรักชาติ..."

อนึ่ง นักฟุตบอลทีมชาติสยามที่เคยได้รับหมวกพระราชทานดังกล่าวและปรากฏชื่อตามเอกสารสิ่งพิมพ์เก่าเท่าที่ค้นพบหลักฐาน คือ นายอิน สถิตยวณิช, นายต๋อ ศุกระศร, นายภูหิน สถาวรวณิช, นายกิมฮวด (วัฒน์) วณิชยจินดา, นายตาด เสตะกสิกร, นายแถม ประภาสะวัต, นายศรีนวล มโนหรทัต, นายชอบ หังสสูต, นายโชติ ยูปานนท์, นายจรูญ รัตโนดม, หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, นายบุญชู ศีตะจิตต์, นายสวาสดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายอู๋ พรรธนะแพทย์, นายเพิ่ม เมษประสาท, นายบุญสม รัชตะวรรณ และนายผัน ทัพภะเวส

นอกจากนี้ สโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ในรัชสมัย "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ล้วนแล้วแต่มีการจัดทำหมวกประจำทีม โดยจะมีตราของสโมสรเหล่านั้น ติดอยู่บนหน้าหมวกเช่นกัน นับว่าเป็นพระวิสัยทัศน์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เพื่อทรงต้องการให้ราษฏรชาวสยามเล่นฟุตบอลเป็นการออกกำลังกายแล้ว พระราชประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือการสร้างความสามัคคีและรักหมู่คณะของคนไทยด้วยกัน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้นสยามตกอยู่ในฐานะ "รัฐกันชน" ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างสองชาติมหาอำนาจจักรวรรดิ์นิยมตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศส นั้นเอง

แม้ปัจจุบันนี้ "หมวกพระราชทาน" จะยังไม่ปรากฏว่ามีการเก็บรักษาไว้อย่างไรหรือไม่ แต่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้รับทราบจากลูกหลานอดีตนักฟุตบอลทีมชาติชุดแรกของไทย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และนายภูหิน สถาวรวณิช ซึ่งกล่าวว่าเคยได้เห็นหมวกดังกล่าว แต่เพราะสภาพความเก่าและชำรุดตามกาลเวลา จึงทำให้ไม่มีใครสนใจนักจนต่อมาคงสูญหายไป

จากเหตุการณ์นั้น สาเหตุก็เพราะการไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา เพราะแท้จริงแล้ว "หมวกพระราชทาน" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การกีฬาของชาติไทยเลยทีเดียว นอกจากจะแสดงถึง "เกียรติภูมิทีมชาติไทย" อันทรงคุณค่าและศักดิ์ศรี "ตราพระมหามงกุฎ" ของสถาบันกษัตริย์แห่งสยามเช่นเดียวกับ "ตราสิงโตสามตัว" บนหน้าหมวกกำมะหยี่สีน้ำเงิน (BLUE VELVET) ของทีมชาติอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่าในโลกลูกหนังมีเพียงสองทีมเท่านั้น ที่ได้รับเกียรติยศจากสถาบันสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ

ในปัจจุบัน สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย จึงทำการศึกษาข้อมูลและค้นคว้ารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจัดทำ "หมวกพระราชทาน" และชุดแข่งขันคณะฟุตบอลสยามสมัยเริ่มแรกขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบจากภาพเก่าและคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อต้องการให้อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาและร่วมภาคภูมิใจ พร้อมทั้งนำเข้าพิธีบวงสรวงในช่วงเช้าของงานกิจกรรมและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ "123 ปี พระผู้พระราชทานกำเนิดฟุตบอลสยาม" มีโหรหลวง นายศิริพงษ์ วัชโรทัย ประกอบพิธีบวงสรวง ก่อนที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะทรงเสด็จทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ณ วชิราวุธวิทยาลัย

โดยจะสามารถเข้าชม "หมวกพระราชทาน" ดังกล่าวได้ ณ พระตำหนักทับแก้ว พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เนื่องจากสมาคมกำลังดำเนินการรวบรวมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" ขึ้นเป็นแห่งแรกของวงการลูกหนังเมืองไทย.

ที่มา:จิรัฏฐ์ จันทะเสน สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น